top of page

เรียนกับหลวงพ่อเต่า

 

         ในปีนั้นคุณลุงสนิท  พลอยสุขได้เริ่มเข้ามาอยู่วัดเพื่อคอยอุปัฏฐากท่านด้วยขณะนั้นคุณลุงสนิท  อายุได้เจ็ดขวบพอดีและ พึ่งเข้าโรงเรียนประถมศึกษาปีที่๑พอดี ดังนั้นคุณลุงสนิทจึงอยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อท่านมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา ทั้งได้รู้ได้เห็นการปฏิบัติของหลวงพ่อท่านว่าเป็นมาอย่างไร คุณลุงสนิทได้ให้ข้อมูลว่าในสมัยนั้นหลวงพ่อท่านเคร่งครัดมากทั้งในด้านพระวินัย และการปฏิบัติท่านเป็นพระที่มีความประพฤติดีงาม รักความสะอาด มักน้อย สันโดษชอบความเป็นอยู่ง่ายๆ  พูดน้อย ท่านจะทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นไม่เคยขาดเลย แม้เจ็บไข้ได้ป่วย บางครั้งด้วยความเป็นเด็กก็กราบเรียนท่านว่า หลวงอาทำไมต้องสวดมนต์ทุกวันเว้นบ้างก็ได้ คุณลุงสนิทเล่าว่า หลวงอาหันมาแล้วตอบว่า ได้ หรือ กินของเขาทุกวัน จะอยู่ให้เป็นหนี้เขาเราก็ขาดทุนนะสิ  ชาวบ้านเขากว่าจะได้ของมาทำบุญตักบาตรเขาเหนื่อยกว่าเราเท่าไรลองคิดดูสิสนิทเอ๋ย หลังจากทำบุญออกพรรษาแล้วหลวงพ่อท่านก็ยังจำอยู่ที่วัดบัลลังก์และมีอยู่บ่อยครั้งท่านมักจะเดินทางไปกราบหลวงพ่อมุ่ย พุทฺธรกฺขิโต ที่วัดดอนไร่เพื่อศึกษาธรรมและเรียนวิชาเพิ่มเติมจากที่เคยเรียนมาจากสมุดข่อยของบิดาเมื่อเกิดมีความสงสัยอะไรในตำรับตำราก็มักจะไปกราบเรียนถวายให้หลวงพ่อมุ่ยช่วยแก้ไขให้เสมอท่านเล่าว่าหลวงพ่อมุ่ยท่านเชี่ยวชาญทุกอย่างและทำได้จริงทั้งเรื่องภายในและภายนอกคือเก่งทั้งด้านวิชา อาคม และเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่แก่กล้าด้วยอำนาจพุทธาคม

พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิโต)

วัดดอนไร่ ผู้เป็นบูรพาจารย์ที่หลวงพ่อ ให้ความเคารพนับถือ

        แต่การไปศึกษาธรรมและเรียนวิชาเพิ่มเติมจากหลวงพ่อมุ่ยนั้นท่านมักจะไปเช้าเย็นกลับเพราะระยะทางจากวัดบัลลังก์ไปวัดดอนไร่นั้นไม่ไกลเกินไปเมื่อได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อมุ่ยแล้วก็กลับมาปฏิบัติเองจนเกิดผลแล้วจึงศึกษาเรื่องอื่นต่อไปเมื่อไม่เข้าใจอะไรก็กลับไปหาท่านอีกบางครั้งต้องไปติดต่อกันสองวันสามวันก็มีส่วนมากมักจะเป็นเรื่องจิตเรื่องสมาธิเสียมากกว่าท่านเล่าว่าหลวงพ่อมุ่ยมีเมตตาต่อท่านมากหลวงพ่อมุ่ยกล่าวกับท่านว่า เป็นพระก็ต้องศึกษาสิกขา ๓ คือ คีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักก่อนจนถึงอธิสีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑

    ***(อธิบายเพิ่มเติม)สิกขา ๓ ที่หลวงพ่อมุ่ยแนะนำให้ท่านนั้นหมายถึงพื้นฐานสำหรับปูจิตใจให้มีความรู้คู่คุณธรรม การศึกษาวิชาทางโลกมีอยู่มากมายหลายแขนงแต่ในทางธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้เพียง ๓ แขนงเท่านั้นเรียกว่าสิกขา มีเนื้อหาครอบคลุมการศึกษาทั้งหมด มีผลสูงสุดคือการ พ้นทุกข์  สิกขา ๓ ได้แก่

                ๑.อธิสีลสิกขา  หมายถึง สิกขาคือศีลอันยิ่งหมายถึงข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมกายและวาจาให้เรียบร้อย ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๑๐ปาริสุทธิศีล ๔ โลกียศีล สูงสุดคือโลกุตตรศีล

               ๒.อธิจิตตสิกขา  หมายถึง สิกขาคือจิตอันยิ่ง หมายถึงข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตใจให้เกิดสมาธิ ได้แก่ สมาบัติ  ๘ สูงสุดคือฌานที่เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา

               ๓.อธิปัญญาสิกขา  สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง หมายถึงข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมใจให้เกิดปัญญา ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ (ความรู้ถึงภาวะที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว) สูงสุดคือวิปัสสนา

 

             ท่านเล่าว่าที่หลวงพ่อมุ่ยกล่าวเช่นนั้นท่านมีความประทับใจยิ่งนักเพราะจุดหมายของการบวชนั้นท่านหวังอยู่ที่การพ้นทุกข์เช่นกัน สมัยที่ท่านยังหนุ่มยังมีสติปัญญา และเรี่ยวแรงดี อยู่นั้นนับว่าท่านเป็นพระที่ชอบศึกษาหาความรู้และค้นหาครูอาจารย์ ใครว่าหลวงพ่อที่ไหนดีอาจารย์ที่ไหนเก่งท่านมักจะดั้นด้นไปหาเพื่อศึกษาวิชาความรู้ด้านต่างๆเพิ่มเติมต่อไป จนถึงเดือนมิถุนายนปี พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงพ่อท่านได้ยินกิตติศัพท์พระเถระรูปหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากในด้านการรักษาโรคในจังหวัดอ่างทอง ดังนั้น ท่านจึงกราบเรียนให้หลวงพ่อมุ่ยทราบและขออนุญาตเดินทางไปรักษาโรคหอบที่เป็นอยู่และจะถือโอกาสศึกษาวิชาแพทย์ และวิปัสสนา กรรมฐานกับพระผู้ทรงคุณธรรมและแก่กล้าด้วยอำนาจพุทธาคมรูปนั้น ซึ่งหลวงพ่อมุ่ยก็อนุญาตและให้ โอวาทว่า ตอนนี้ท่านยังหนุ่มอยู่จะหัดจะฝึกอะไรก็ให้รีบทำ ท่านเล่าว่า เป็นธรรมดาอยู่เองทีศิษย์จะต้องเคารพครูอาจารย์เมื่อจะไปไหนมาไหนก็ต้องกราบเรียนให้ครูบาอาจารย์ทราบเสมอเพราะมีประโยชน์ ๓ ประการ คือ

 

                                      ๑.เรากำลังศึกษากับท่านประการหนึ่ง

                                      ๒. ท่านจะได้ทราบที่ไปที่มาแล้วจะได้ไม่ต้องห่วงหนึ่ง

                                      ๓. จะได้ไม่เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ทางพฤตินัยหนึ่ง

 

             ท่านหมายถึงว่าเราศึกษาอยู่สำนักหนึ่งแล้วจะไปอยู่อีกสำนักหนึ่งโดยไม่บอกไม่กล่าวกับครูบาอาจารย์นั้นเป็นการไม่ควรอย่างยิ่งดังนั้นท่านจึงออกเดินทางไปหา พระครูธรรมพิริยะคุณหรือหลวงพ่อเต่า แห่งวัดน้ำพุสิทธาราม อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทองการเดินทางไปหาหลวงพ่อเต่าครั้งนั้นไปด้วยกันหลายคนที่เดินทางไปด้วยแต่จำได้ไม่หมดที่จำได้ก็มีบิดาของท่านและคุณลุงสนิทซึ่งยังเป็นเด็กติดตามไปด้วยการเดินทางนั้นคุณลุงสนิทได้เล่าให้ฟังว่าเดินทางออกจากวัดบัลลังก์ แต่เช้าเดินไปสามชุกเมื่อถึงสามชุกก็ลงเรือล่องแม่น้ำท่าจีนไปขึ้นที่ปากคลองบางขวากแล้วจึงถวายภัตตาหารเช้าแก่หลวงพ่อท่านเมื่อฉันเสร็จก็เดินตัดทุ่งต่อไปทางอับหมา เรื่อยไปทางดอนเนรมิตเข้าสามจุ่นเลยไปพักที่ศาลาวัดอบทมพักหนึ่งแล้วเดินทางต่อไปถึงวัดน้ำพุก็พลบค่ำพอดีเมื่อถึงแล้วก็เข้าไปกราบหลวงพ่อเต่าซึ่งกำลังคุยอยู่กับญาติโยมอยู่พอดี เมื่อกราบเรียนจุดประสงค์ให้หลวงพ่อเต่าทราบแล้วหลวงเต่าก็ตอบว่าเออดีจริงเมือคืนหลวงพ่อฝันเห็นม้าขาว มากินตำรับตำราของหลวงพ่อคิดอยู่ว่าวันนี้จะมีพระมาอยู่ด้วยพอดีคุณก็มาเอ้าพักตรงนั้นก่อน(ท่านชี้ไปที่มุมศาลาท้ายอาสนะสงฆ์)พอดีกุฏิโยมเข้าพักอยู่เต็มพรุ่งนี้ให้โยมออกแล้วคุณค่อยเข้าไปอยู่  เมื่อคณะที่ไปด้วยพักอยู่ที่วัดน้ำพุสามวันจึงลากลับก่อนเหลือแต่บิดาของท่านที่ยังอยู่ก่อนแล้วค่อยกลับมาในภายหลังได้เจ็ดวัน

 

 

       คุณลุงสนิทได้เล่าให้ฟังว่าวัดน้ำพุในขณะนั้น มีผู้คนมากมายที่มารักษากับหลวงพ่อเต่าวันหนึ่งก็ ๔๐๐-๕๐๐ คนนับเป็นวัดที่เจริญและมีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้น  ในปีพ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๗นั้นหลวงพ่อจึงได้จำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อเต่าที่วัดน้ำพุสิทธาราม  ๒  พรรษาท่านได้เมตตาเล่าประวัติในสมัยที่ไปศึกษาอยู่กับหลวงพ่อเต่าให้ฟังว่า  หลวงพ่อเต่าท่านเป็นพระเถระที่มีคุณธรรมสูง จิตใจของท่านสงบเย็น เปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรมท่านมีเมตตาปราณีมาก นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระผู้มีความชำนาญ  ในเรื่องอำนาจจิต และเชี่ยวชาญการใช้กสินอย่างแท้จริงหลวงพ่อเต่าจะขึ้นธรรมมาสรักษาคนวันละ ๓ รอบคือ รอบเช้า-รอบบ่าย-และรอบค่ำเพ่งกระแสจิตด้วยกระสินที่ฝึกมาแล้วอย่างเชี่ยวชาญเพื่อตรวจดูอาการของผู้ป่วยที่อยู่ในศาลาเมื่อท่านทราบสมุห์ฐานหรือสาเหตุของโรคด้วยญาณของท่านๆก็จะเพ่งจิตไปตรงจุดที่เกิดโรคซึ่งแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นๆต้องใช้กสิณอะไรช่วยแก้ไข

       ในขณะที่หลวงพ่อเต่าเพ่งจิตรักษาคนป่วยซึ่งนั่งอยู่เต็มศาลานั้นหลวงพ่อพยุงก็เจริญจิตภาวนาที่ศึกษามาจากหลวงพ่อสด จนฺทสโร แห่งวัดปากน้ำเมื่อจิตสงบลงท่านว่าเห็นกระแสจิตของหลวงพ่อเต่าเป็นลำแสงพวยพุ่งเต็มศาลาทั่วทั้งศาลาสว่างไสวไปด้วยกระแสจิตของหลวงพ่อเต่าท่านเล่าว่าน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งเพราะลำแสงที่พวยพุ่งอออกมามีหลากหลายสีอย่างกับสีรุ้งทีเดียว  

หลวงพ่อพยุง ถ่ายไว้เมื่อสมัยพรรษาแรกๆ

© 2015 by Piyanuch  Charernmool. Proudly created with Wix.com 

  • facebook
bottom of page