ชีวประวัติ
หลวงพ่อพยุง สุนฺทโร
เรียบเรียงโดย พระอาจารย์วิชัย จริยวรรณ
ณ ธุดงคสถานธรรมวิชัย
ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
ปฏิปทาและอัธยาศัย
ปฏิปทาที่ท่านดำเนินมาตั้งแต่สมัยเป็นพระหนุ่มจนกระทั่งเข้าสู่ปัจฉิมวัยนั้น คือ ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยท่านจะนำพระเณรปฏิบัติกิจต่างๆโดยทำเป็นตัวอย่างให้ดู ในระยะแรกที่ท่านมาอยู่วัดบัลลังก์ในปีพ.ศ.๒๔๙๘ เป็นสมัยที่ท่านยังหนุ่มนั้นท่านจะทำความเพียรอย่างหนักจนร่างกายผ่ายผอมแต่ท่านเป็นพระที่อดทนมากท่านนั่งสมาธิภาวนาตลอดคืนจนถึงเช้าโดยที่ร่างกายของท่านไม่ขยับเลย ในเวลาเช้าหลังจากฉันบิณฑบาตรแล้วท่านก็จะเดินจงกลมอยู่ผู้เดียววันๆท่านไม่พูดไม่คุยอะไรเลยบางวันถ้ามีโยมมาคุยด้วยท่านก็พูดคุยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นส่วนมากท่านจะนั่งฟังโยมคุยเสียมากกว่า โยมบางคนคุยเก่งมาคุยตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงท่านก็นั่งฟังเขาคุยเฉยอยู่อย่างนั้น แถมยังต้องเลี้ยงข้าวกลางวันอีกด้วยท่านมักเตือนคิษย์ที่คุยเก่งแต่ภาวนาไม่เก่งว่า พูดมากก็เรื่องมาก พูดน้อยก็เรื่องน้อย ไม่พูดก็ไม่มีเรื่อง ท่านเล่าว่า เมื่อเป็นฆราวาสชอบพูดชอบคุยพอบวชแล้วชอบปฏิบัติมากกว่าเพราะคนที่ชอบพูดชอบคุยมากมักฟุ้งซ่านไม่มีสติคอยเตือนตนเองยิ่งพูดก็ยิ่งนินทาคนอื่นเรื่อยไปหาสารประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้าพูดด้วยอรรถด้วยธรรมอย่างนี้น่าฟัง ในระยะแรกที่ท่านมาอยู่ ท่านเคร่งครัดมากท่านรักษาธุดงควัตรเป็นปกตินิสัยคือท่านจะฉันข้าววันละมื้อเดียวและฉันเพียงวันละสี่สิบคำ เมื่อลุกจากที่แล้วท่านจะไม่ฉันอะไรเลยนอกจากน้ำเท่านั้น ท่านมักแนะนำศิษย์ที่ต้องการปฏิบัติด้านสมาธิภาวนาว่าควรฉันแต่น้อยพอบำรุงธาตุขันธ์เท่านั้น หากฉันมากเกินไปอาหารนั้นมักจะทับธาตุทำให้ง่วงนอนแล้วพาให้เกียจคร้านการภาวนา พอออกพรรษาแล้วท่านก็มักไปหาที่วิเวกในที่ต่างๆเพื่อไม่ให้ชินกับที่บางครั้งก็ไปศึกษากับหลวงพ่อมุ่ยเมื่อได้รับคำแนะนำแล้วท่านมักออกไปปฏิบัติเสมอพอจวนเข้าพรรษาท่านก็กลับมาจำที่วัดบัลลังก์ ท่านเล่าว่าในภายหลังว่าสมัยก่อนหลวงพ่อไม่ค่อยอยู่วัดเพราะต้องหาที่ศึกษาทางจิตและวิชาต่างๆที่ได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ให้เกิดความชำนาญ คล่องแคล่ว จนคนบางคนที่ไม่รู้ก็ตำหนิติเตียนว่าหลวงพ่อเป็นพระเกะกะไม่ค่อยอยู่วัด ท่านว่าท่านไม่เคยนึกโกรธคนเหล่านั้นเลยมีแต่ความสงสารเขาแล้วท่านก็กล่าวว่า "เราจะอยู่ที่ไหนก็ตามจะให้คนมารักเราร้อยทั้งร้อยไม่ได้หรอกลูกแต่เพียงร้อยละห้าสิบก็อยู่ได้แล้วลูก" ท่านจำพรรษาที่วัดบัลลังก์เรื่อยมาจนทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบัลลังก์ใน ปีพ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมาประชาชนชาวบ้านก็ได้ร่วมใจกันทะนุบำรุงพระสงฆ์สามเณรในวัดบัลลังก์เป็นอย่างดี ในพรรษาเวลาเย็นหลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้วญาติโยมชาวบ้านที่เป็นผู้ชายมักจะมาช่วยกันขุดดินส่วนพระเณรก็ช่วยกันขนดินที่โยมขุดใส่รถเข็นไปถมที่เป็นหลุมเป็นบ่อส่วนโยมผู้หญิงก็มักจะทำอาหารมาเลี้ยงโยมที่มาช่วยงานส่วนพระเณรโยมก็จะทำน้ำปานะมาถวาย บางคืนโยมเห็นพระเณรเหนื่อยก็อยากให้ฉันข้าวต้มบ้างเมื่อไปกราบเรียนท่านท่านก็ว่าพระเณรท่านได้บุญจะไปทำให้ท่านได้บาปทำไม ท่านเป็นลูกพระพุทธเจ้าต้องอดทนได้เมื่อท่านว่าอย่างนี้ก็ไม่มีใครกล้าถวายส่วนพระเณรในยุคนั้นก็เป็นจริงท่านเคร่งครัดเหมือนหลวงพ่อไม่มีผิดเพราะทุกรูปที่บวชเข้ามาล้วนต้องการบุญกุศลอย่างแท้จริง พระเณรในสมัยที่เป็นยุคแรกๆนั้นท่านปฏิบัติดีและมีความสำรวมมาก จะออกจากกุฏิก็ต้องห่มจีวรให้เรียบร้อยจะนุ่งสบงใส่อังสะอย่างเดียวไม่ได้เลย
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้นหลวงพ่อท่านได้เริ่มก่อสร้างกุฏิ และหอสวดมนต์ขึ้นโดยอาศัยญาติโยมช่วยกันบอกบุญเรี่ยไรกันมา ในยุคนั้นเงินทองหายากมากกว่าจะได้แต่ละบาทแต่ละสตางค์ก็ยากเย็นแสนเข็ญแต่ด้วยความมุ่งมั่นอดทนของหลวงพ่อและความร่วมใจของประชาชนในหมู่บ้านจนการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ในปีนั้นหลวงพ่อมุ่ยได้มาเยี่ยมเยียนท่านที่วัดบัลลังก์เห็นว่าท่านกำลังสร้างกุฏิจึงนำกุฏิเก่าจากวัดดอนไร่มาถวายไว้หลังหนึ่งด้วยในวันนั้นท่านได้กราบเรียนถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆให้หลวงพ่อมุ่ยได้ทราบ เมื่อหลวงพ่อมุ่ยผู้เป็นอาจารย์ได้ฟังแล้วได้ให้โอวาทแก่ท่านไว้ว่า "อย่าวิตกทุกข์ร้อนอะไรเลย เมื่อหลวงพ่อสร้างวัดดอนไร่เสร็จจะมาช่วยสร้างวัดบัลลังก์ต่อ" จากความเมตตาของหลวงพ่อมุ่ยทำให้ท่านมีกำลังใจในการก่อสร้างยิ่งขึ้น
ท่านพัฒนาวัดเรื่อยมาจนล่วงเข้าปีพ.ศ.๒๕๐๘ ประชาชนเริ่มเข้าวัดทำบุญมากขึ้นจนศาลาดินหลังเดิมไม่พอนั่งท่านจึงริเริ่มที่จะสร้างศาลาใหม่ พอดีในปีนั้นหลวงพ่อมุ่ยท่านไปกิจนิมนต์ทางหนองหญ้าไซเวลากลับท่านแวะมาพักค้างคืนที่วัดบัลลังก์คืนหนึ่ง ในปีนั้นคุณสนิทบวชพระพอดีจึงเป็นผู้หาน้ำร้อนน้ำชาหมากพูลมาถวายและจัดเสนาสนะให้ท่านแต่หลวงพ่อมุ่ยท่านประสงค์ที่จะพักในกุฏิเดียวกับหลวงพ่อพยุงซึ่งในขณะนั้นท่านพักอยู่ที่กุฏิด้านหลังหอสวดมนต์ ดังนั้นท่านจึงกราบเรียนเรื่องการสร้างศาลาหลังใหม่ให้หลวงพ่อมุ่ยทราบซึ่งท่านก็เห็นดีด้วยและแนะนำว่าให้ลงมือทำโดยเริ่มหาวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นไม้ต่างๆเช่นไม้เสา รอด ตง ขื่อ กระดาน แป และสิ่งที่จะต้องใช้เตรียมไว้ก่อน แต่การจะทำงานใหญ่อย่างนี้ต้องมีวัตถุมงคลไว้แจกจ่ายคนที่มาทำบุญบ้างจึงจะดีโดยหลวงพ่อมุ่ยแนะนำให้ทำเป็นพระเนื้อผงพิมพ์ปรกโพธิ์ โดยอธิบายว่า "พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ ณ. โพธิ์บัลลังก์ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับวัด ดังนั้นหลวงพ่อมุ่ยจึงแนะนำวิธีลบผงด้วยสูตรต่างๆเริ่มตั้งแต่การเขียน นะปัดตลอด ด้วยวิธีการตามแบบโบราณจารย์ที่ได้ทำสืบๆกันมา" โดยศึกษาจากสมุดข่อยและมีหลวงพ่อมุ่ยเป็นอาจารย์แนะนำการลบผงสูตรต่างๆจึงทำให้การศึกษาวิธีการลบผงของหลวงพ่อสำเร็จได้ภายในคืนเดียว
