top of page

ปฐมวัย (๓)

 

       ท่านเล่าว่านับวันท่านยิ่งเกิดความเบื่อหน่าย ในเพศฆราวาส ยิ่งพิจารณากายสังขารด้วยแล้วเห็นความไม่เที่ยงแท้ในชีวิตยิ่งขึ้น วันหนึ่งอาการหอบหืดกำเริบท่านจึงกำหนดจิตพิจารณากาย ท่านว่าเห็นร่างกายของท่านเป็นโครงกระดูกเมื่อเห็นเช่นนั้นท่านจึงพิจารณารอบกายเห็นคนรอบข้างแม้แต่วัวควายก็มีแต่โครงกระดูกเดินก๊อกแก็กๆไปมาท่านว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ว่างเปล่าไม่มีสิ่งใดเลย ขณะเดียวกันจิตก็พลันระลึกถึงกรรมอย่างหนึ่งที่ท่านชอบทำแต่ยังเด็กคือเวลาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายท่านชอบเอาหญ้าพันงูปั่นใยบึ้งบอดในรูเมื่อได้ตัวบึ้งบอดก็นำมาเผาท่านชอบกินไข่บึ้งบอดมากทั้งยังไม่รู้ว่าจะเป็นเวรเป็นกรรม เวลาโรคหอบกำเริบมักจะมีน้ำลายชนิดหนึ่งคล้ายเสลดออกมาจากปากของท่านแต่มีความเหนียวมากมารดาของท่านจะใช้นิ้วล้วงพันออกมาท่านเล่าว่าพันเท่าไรก็ไม่ยอมขาดเป็นชั่วโมงก็ยังไม่หมดจนนิ้วมารดาเหมือนถูกแป้งเปียกพันไว้เลยทีเดียวด้วยเหตุนี้เองเวลาอาการหอบท่านกำเริบท่านจะไม่สามารถรับประทานอะไรได้เลย เมื่อจิตถอยออกมาอาการป่วยของท่านก็สงบลงเช่นกัน  ท่านว่าในขณะนั้นไม่มีความกลัวตายหรือกลัวอะไรเลย หากกายนี้จะแตกดับก็พร้อมที่จะตายเสมอไม่มีความหวั่นไหวใดใดเลยในเรื่องของความตาย

      ท่านว่าโรคหอบของท่านนั้นมันเป็นโรคกรรม เมื่อยังไม่สิ้นกรรมยาอะไรก็รักษาไม่หายหรอก  มีแต่ธรรมโอสถเท่านั้นแหละที่จะเยียวยารักษาโรคนี้ได้  แต่บิดาของท่านก็พยายามที่จะปรุงยาสูตรต่างๆเพื่อจะรักษาท่านให้หายโรค แต่ก็แค่ระงับไปชั่วคราวเท่านั้น เพราะบิดาท่านไม่สามารถล่วงรู้ถึงกรรมของท่านแต่ด้วยความรักของบิดาที่มีต่อบุตรจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาได้ ท่านเล่าว่าการร่ำเรียนวิชาสูตรต่างๆจากบิดาของท่านนั้นนอกจากจิตใจจะสงบเย็นแล้ว จิตของท่านยังประกอบด้วยเมตตา ชื่อว่าสัตว์มีชีวิตแล้ว    ท่านไม่ปารถนาที่จะทำลายหรือเบียดเบียนเลย มีแต่ความสงสารเป็นอย่างยิ่งหากท่านไปพบสัตว์ได้รับบาดเจ็บ ท่านก็จะนำสัตว์นั้นไปรักษาจนหายแล้วท่านก็จะปล่อยมันไป ซึ่งผิดกับตอนที่ยังไม่ได้ศึกษา เมื่อบิดาและมารดาเห็นท่านทำเช่นนี้อยู่เสมอก็อดที่จะภาคภูมิใจในลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนนี้ไม่ได้

         เมื่อเห็นเช่นนั้นความรู้อันใดที่มีอยู่บิดาของท่านก็ถ่ายทอดให้อย่างไม่ปิดบัง  ดังนั้นบิดาของท่านจึงเป็นครูคนแรกที่ให้ความรักและความรู้อย่างแท้จริง  อาจกล่าวได้ว่าครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวที่อยู่กันอย่างอบอุ่น ทีเดียว  อีกทั้งชาว

ชนบทในสมัยนั้นส่วนมากก็มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอยู่เสมอ  จึงเป็นสังคมที่น่าอยู่ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างจะพบเห็นได้ยาก  ยิ่งโดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน ช่วงชีวิตในวัยเด็กของท่านนั้น  นับเป็นชีวิตที่สั่งสมประสบการณ์ได้อย่างคุ้มค่าทีเดียวเพราะอยู่ท่ามกลางชุมชนใหญ่ซึ่งต้องช่วยเหลือตนเองทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการกินการอยู่อาศัย หรือแม้แต่การศึกษาเล่าเรียนต้องดิ้นรนขวนขวาย พึ่งพาสติปัญญาของตนเองทั้งสิ้น แต่เพราะท่านเป็นคนมีความอดทนและมุ่งมั่น ความลำบากต่างๆ

    

 

 

              จึงไม่เป็นอุปสรรคขวางกั้นความตั้งใจของท่านไปได้เลยเมื่อถึงวัยที่จะต้องทดแทนบุญคุณบิดา มารดาเหมือนชายไทยทั่วไป  บิดามารดาก็พาเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์เมื่ออายุครบ๒๐ปีบริบูรณ์ภายหลังหลวงพ่อท่านได้ปรารภให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า "คนเราหากตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งนั้นต้องสำเร็จ" จากคำกล่าวของท่านและการปฏิบัติที่ท่านแสดงออกมาให้สานุศิษย์ได้เห็นทุกอิริยาบถ ก็จะเห็นได้ว่าท่านมีความเด็ดเดี่ยวอาจหาญอย่างมากทั้งทางด้านการปฏิบัติในข้อวัตรและความเพียรภาวนาจึงเป็นแบบอย่างให้สานุศิษย์ดำเนินรอยตามได้เป็นอย่างดี

อุโบสถหลังเก่าของวัดหนองหลวง อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 

เป็นสถานที่หลวงพ่อได้มาอุปสมบท เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๔

ซึ่งเป็นอุโบสถหลังแรกของอำเภอที่ได้อุปสมบท กุลบุตร ในสมัยนั้น

เมื่ออดีตสถานที่ตรงนี้เคยเป็นบ้านที่หลวงพ่อเคยอาศัยอยู่     

กับบิดา-มารดา  (พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๙๔)

ปัจจุบันได้รื้อไปสร้างกุฏิ ที่วัดบัลลังก์

เมื่อมองมาจากบ้านของท่านก็จะเป็นท้องทุ่งนา

ซึ่งเคยเป็นสถานที่เลี้ยงวัวควาย ของหลวงพ่อ

© 2015 by Piyanuch  Charernmool. Proudly created with Wix.com 

  • facebook
bottom of page